FTA Thai-EU

FTA Thai-EU.jpgความเป็นมา

ประเทศไทยได้ร่วมกับอาเซียนในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU FTA) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 โดยมีการเจรจารวม 7 ครั้ง และการเจรจาฯ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม พ.ศ. 2552 ณ ประเทศมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศหยุดพักการเจรจา เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการเจรจามีพัฒนาการค่อนข้างช้า รวมทั้งฝ่ายสหภาพยุโรปมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเรื่องนโยบายการยอมรับเมียนมา ขณะที่สมาชิกอาเซียนต่าง ๆ ยังมีความแตกต่างในระดับการพัฒนาทำให้มีปัญหาในเรื่องระดับการเปิดตลาดสินค้าและบริการที่อาเซียนไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปจึงปรับแนวทางเป็นการเจรจาในระดับทวิภาคีกับสมาชิกอาเซียนที่พร้อมเจรจา 3 ประเทศแรก ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เห็นชอบอย่างเป็นทางการให้เปลี่ยนแนวทางการเจรจาเป็นแบบทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศดังกล่าว

ไทยและสหภาพยุโรปเริ่มการเจรจา FTA ระหว่างกันเมื่อปี พ.ศ. 2556 และมีการประชุมเจรจาแล้วทั้งสิ้น 4 รอบ โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2557 แต่ด้วยสถานการณ์ในไทย สหภาพยุโรปจึงขอชะลอการเจรจาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2557 ในเวลาต่อมาสหภาพยุโรปได้มีข้อมติให้ฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับ และให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาความเป็นไปได้ในการฟื้นการเจรจา FTA กับไทย และต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 หลังจากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลของไทย คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศได้มีมติให้สหภาพยุโรปมีการหารือเพื่อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกมิติ รวมถึงการดำเนินการไปสู่การฟื้นการเจรจา FTA ที่มีเป้าหมายสูงและรอบด้านกับไทย

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการเกี่ยวกับการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ทั้งการจ้างศึกษา การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคเอกชน สมาคมธุรกิจ เกษตรกร ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติ รวมไปถึงมีการยกร่างกรอบการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป โดยได้จัดประชุมหน่วยงานภาครัฐ และหารือรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อร่างกรอบการเจรจาฯ รวมทั้งแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อฟื้นการเจรจาฯ จำนวน 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 และ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564 และ วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ตามลำดับ รวมทั้งได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหารือเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเจรจา FTA Thai-EU รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดีทั้งการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ ประเทศไทยตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปผลการเจรจาภายในปีพ.ศ. 2568 พร้อมนัดเจรจารอบ 3 ที่บรัสเซลส์ ส่วนประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในรอบถัดไป สำหรับการเจรจา FTA Thai-EU จัดเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องเร่งการเจรจาให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ