ข้อมูลเบื้องต้น
Food and Drug Authority สาธารณรัฐอินโดนีเซีย หรือ National Agency of Drug and Food Control (NADFC) หรือ BPOM เป็นหน่วยงานกำกับดูแล อาหาร ยา วัตถุเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง รวมถึงการควบคุมคุณภาพ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับห้องปฏิบัติการและการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ฝ่ายสาธารณรัฐอินโดนีเซียเสนอร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการควบคุมอาหารและยาระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย (Memorandum of Understanding between the Indonesian Food and Drug Authority of the Republic of Indonesia and the Thailand Food and Drug Authority of the Kingdom of Thailand Concerning Cooperation in the field of Drug and Food Control) เมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๓ ในโอกาสครบรอบ 70 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจฯระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลอาหารและยา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ราชอาณาจักรไทยว่าด้วยความร่วมมือด้านการกำกับดูแลอาหารและยา โดยแจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขทราบเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในด้านความปลอดภัย ประสิทธิผล และคุณภาพของยา ยาแผนโบราณ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และอาหารแปรรูป โดยมีรูปแบบความร่วมมือ คือ การแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูล แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และความรู้ในด้านมาตรฐานและกฎระเบียบข้อบังคับ ความร่วมมือต้านการยอมรับมาตรฐาน การจัดการประชุมและฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองต่อยาผิดมาตรฐาน ยาปลอม สิ่งเจือปนในยาแผนโบราณ อาหารปลอม รวมถึงการติดตามและการพัฒนาระบบติดตาม ให้การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีและหารือเกี่ยวกับปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ความร่วมมือในการแจ้งเตือนก่อนการตรวจประเมิน GMP ส่งเสริมการดำเนินการรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการติดตามความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์จากทั้งสองประเทศ โครงการร่วม แลกเปลี่ยนการเยือนของคณะผู้แทน และผู้เชี่ยวชาญ เข้าร่วมในกิจกรรมระหว่างประเทศใดๆ ที่จัดโดยภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตลอดจนร่วมมือตามสาขาร่วมกันในเวทีพหุภาคี สถานะล่าสุดของร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการควบคุมอาหารและยาระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย อยู่ในระหว่างการพิจารณารายละเอียดของขอบเขตของความร่วมมือของหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง
วัตถุประสงค์ของบันทึกความเข้าใจฯ
เพื่อสร้างและรวมความร่วมมือในด้านความปลอดภัย ประสิทธิผล และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยา และการกำกับดูแลอาหาร
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ อย.
1.แลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูล แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด และความรู้ในด้านมาตรฐานและกฎระเบียบข้อบังคับ
2.ร่วมมือด้านการยอมรับมาตรฐาน
3.จัดการประชุมและฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกัน การตรวจจับ และการตอบสนองต่อ ยาผิดมาตรฐาน ยาปลอม สิ่งเจือปนในยาแผนโบราณ อาหารปลอม รวมถึงการติดตามและการพัฒนาระบบติดตาม
4.ให้การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีและหารือเกี่ยวกับปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น
5.ร่วมมือในการแจ้งเตือนก่อนการตรวจประเมิน GMP
6.ส่งเสริมการดำเนินการรับรองทางอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า
7.อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการติดตามความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์จากทั้งสองประเทศ