ในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2565 ประเทศไทยร่วมกับสหราชอาณาจักรจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ไทย - สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดย JETCO เป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบาย ส่งเสริม พัฒนา และขยายความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน รวมถึงการแก้ไขปัญหา และอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนการนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้เกิดประโยชน์และผลเป็นรูปธรรม ข้อสรุปผลของการประชุม มีประเด็นที่ทางฝ่ายไทยและสหราชอาณาจักรรับทราบแนวทางความร่วมมือ และแผนการดำเนินงานในสาขาที่สองฝ่ายมีศักยภาพให้ความสนใจร่วมกัน ได้แก่
1. ความร่วมมือของภาคเอกชน การมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมโอกาสด้านการค้าและลงทุนระหว่างกัน
2. ดิจิทัล การจัดทำหนังสือแสดงเจตจำนง (letter of Intent) เพื่อจัดทำความร่วมมือด้านดิจิทัล
3. เกษตร การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร
4. อาหารและเครื่องดื่ม การส่งเสริมความร่วมมือผ่านการหารือและจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายโอกาสและยกระดับการค้าการลงทุนในสาขาอาหารและเครื่องดื่ม
5. สุขภาพ พิจารณาแนวทางการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแสวงหาโอกาสในการขยายความร่วมมือทางธุรกิจ
6. บริการทางการเงิน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง การสานต่อความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย การส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินมาใช้เพื่อสนับสนุนโอกาสทางการค้าและการลงทุนในสาขาบริการทางการเงิน
7. กิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุน ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ รวมถึงการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงาน
ทั้งนี้มีการเสนอกิจกรรมตามแผนการดำเนินงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้แก่
1. อาหารและเครื่องดื่ม – ข้อเสนอกิจกรรมการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้จากสหราชอาณาจักรด้านกฎระเบียบและขั้นตอนการขออนุญาตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และอาหาร ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ CBD
2. ดิจิทัล – ข้อเสนอกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรเพื่อแลกเปลี่ยนกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหาร
3. สุขภาพ – ข้อเสนอกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นขั้นตอนการขออนุญาตกับหน่วยงานด้านอาหารและยาระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร เช่น ขั้นตอนการขออนุญาตผลิตภัณฑ์ยา