อย. ไทย - ญี่ปุ่น จับมือร่วมขับเคลื่อนมิติสุขภาพด้านยาและเครื่องมือแพทย์ พร้อมรับมือความท้าทายจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งอนาคต
8 กุมภาพันธ์. 2567

 

รูป 2.jpg

อย. ไทย - ญี่ปุ่น ร่วมกันจัดประชุม
 Thailand-Japan Symposium ครั้งที่ 10 
ในหัวข้อ “ทศวรรษแห่งความร่วมมือ : ยกระดับความเป็นเลิศด้านการกำกับดูแลเพื่อสุขภาพและนวัตกรรม” มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านยาและเครื่องมือแพทย์นวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ

ในวันที่ 16 มกราคม 2567 ณ โรงแรม Hotel Nikko Bangkok กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงาน Pharmaceuticals and Medical Devices Agency (PMDA) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการประเมินทะเบียนตำรับยาและเครื่องมือแพทย์ของทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันจัดประชุม Thailand-Japan Symposium ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ ทศวรรษแห่งความร่วมมือ :
ยกระดับความเป็นเลิศด้านการกำกับดูแลเพื่อสุขภาพและนวัตกรรม (
A Decade of Partnership :Advancing Regulatory Excellence for Health and Innovation) โดย นายแพทย์ณรงค์
อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
กล่าวว่า ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือด้านวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลทางเทคโนโลยี
โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมที่ผ่านมา อาทิ การประกาศตำรายาของญี่ปุ่นเป็นตำรายาอ้างอิงของประเทศไทย การขึ้นทะเบียนยาโดยใช้ผลการตรวจประเมินของ PMDA มาประกอบการพิจารณา การขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์โดยอ้างอิงหลักฐานการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานที่ อย. ให้การยอมรับ ล้วนช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ รวมถึงช่วยให้ประเทศไทยเข้าถึงเครื่องมือแพทย์นวัตกรรมใหม่ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และไม่ล้าสมัยตอบสนองต่อความท้าทายด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ช่วยให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อย. มีการปรับกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ให้ทันสมัย เพื่อรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์ที่วิจัยพัฒนาในประเทศออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว สำหรับการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กฎระเบียบและการศึกษาวิจัยทางคลินิก การกำกับดูแลเพื่อพัฒนายาและผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง การพัฒนาเครื่องมือแพทย์นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานด้านการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย

เลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำตอนท้ายว่า การประชุมเชิงวิชาการในวันนี้จะเป็นการต่อยอดครั้งสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย - ญี่ปุ่น และร่วมกันพัฒนาการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ให้มีความพร้อม และสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

รูป 3.jpg

รูป TH-JP 10 th ข่าว.jpg

 

S__16187515_0.jpg

 

 

 

คลังรูปภาพ